การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

คณะครุศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรทัย อินตา หัวหน้าภาควิชาหลักสูตรและการสอน ได้เข้าร่วมกลั่นกรองหลักสูตรโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4/2564 มีจำนวน 4 โรงเรียน 6 หลักสูตร ณ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิค อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พร้อมกันนี้ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง “พัฒนาพี่เลี้ยงและครูผู้สอนในการขับเคลื่อนการใช้(ร่าง) กรอบหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายพัฒนาหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกรอบแนวคิดและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน และอยู่ในช่วงการทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สมัครใจใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๒๖๕ โรง จึงได้จัดการประชุมขึ้นเพื่อให้พี่เลี้ยงสามารถให้ข้อเสนอแนะแก่โรงเรียนต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็น 1 ใน 8 จังหวัดนำร่อง มีโรงเรียนนำร่องทั้งหมด 104 โรงเรียน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อยกระดับทางการศึกษาของผู้เรียน ขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สำหรับการดำเนินงานการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นการจัดการเชิงพื้นที่ (Education Sandbox) : เชียงใหม่จัดการศึกษาตนเอง ( Education Sandglass) โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 3 อนุกรรมการ คือ อนุกรรมการบริหารจัดการเชิงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คณะอนุกรรมการวิชาการ วิจัย และประเมินผล และคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และแผนงาน

ประชาสัมพันธ์ : ปรัชญารัก เวียงสงค์